การสร้างโครงเรื่อง
อาคารบ้านเรือนที่มั่นคงสวยงามย่อมต้องมีโครงสร้างที่ดีฉันใด การพูดที่ดีที่จับใจทำให้คนสนใจฟังได้อย่างต่อเนื่องก็ย่อมต้องมีโครงเรื่องที่ดีฉันนั้น
โครงเรื่องที่ดีในการพูด ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ
1. คำนำหรือคำขึ้นต้น
2. เนื้อเรื่อง
3. สรุปจบ
ทั้ง 3 ขั้นตอนนี้ หากทำได้อย่างเหมาะสม จะทำให้คนสนใจได้อย่างแน่นอน
คำนำหรือคำขึ้นต้น
การเริ่มต้นที่ดี สร้างความสนใจให้เกิดขึ้นได้ ย่อมสร้างความศรัทธา ทำให้ผู้ฟังติดตามฟังต่อไป ดังคำกล่าวที่ว่า “การเริ่มต้นที่ดี หมายถึง สำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง” ถ้าเริ่มต้นล้มเหลว ไม่น่าสนใจ ย่อมยามที่จะจุดความสนใจของผู้ฟังขึ้นมาใหม่
ลักษณะการขึ้นต้นที่ล้มเหลว
การขึ้นต้นลักษณะต่อไปนี้ เป็นการขึ้นต้นที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
1. ออกตัว
เพื่อเรียกร้องความเห็นใจจากผู้ฟัง เช่น “ผมมาพูดวันนี้ ผมไม่ค่อยพร้อมเท่าไหร่หรอกครับ
ไม่รู้ตัวล่วงหน้ามาก่อนเลย ควรจำเป็นบีบบังคับให้ผมต้องมาพูด”
2. ถ่อมตน
เพราะเกรงว่าผู้ฟังจะมีความรู้ มีประสบการณ์มากกว่า พยายามลดระดับฐานะความรู้
ความสามารถของตนเอง ฯลฯ ให้ต่ำกว่าผู้ฟัง เช่น “เรื่องที่ผมจะพูดในวันนี้ ผู้ฟังเกือบทุกท่านก็มีความรู้ มีประสบการณ์มากกว่าผมหลายเท่านัก”
3. ขอโทษ ขออภัย
เนื่องจากกลัวว่าจะพูดได้ไม่ดี พูดผิดพลาด ไม่ถูกต้อง ถ้าได้ขอโทษหรือขออภัยไว้ก่อน
ผู้ฟังจะได้ไม่โกรธหรือยกโทษให้ เช่น “ผมเองก็ไม่ค่อยแน่ใจนักว่า สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ จะถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ถ้ามีส่วนขาดตกบกพร่องไปบ้าง ก็ต้องขอโทษขออภัยท่านผู้ฟังไว้ล่วงหน้าก่อนนะครับ”
4. อ้อมค้อม
อ้างเหตุผลนานาประการที่เป็นเรื่องของตนเอง หรือเหตุการณ์อื่นๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
กับเรื่องที่พูดเลย เช่น “วันก่อนที่ผมจะมาพูดที่นี่ ผมไปทานอาหารมาครับเป็นอาหารทะเลสดๆ เช้าผมท้องเสีย ถ่ายท้องทั้งวัน จนรู้สึกหมดเรี่ยวแรงแทบจะยืนไม่อยู่”
ลักษณะการขึ้นต้นดังกล่าวนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ฟังเลยแม้แต่น้อย นอกจากจะเป็นการระยายความในใจของผู้พูดออกมาล่วงหน้าไว้ก่อน ตามหลักการพูดถือเป็นการสูญเสียเวลา และทำลายความสนใจของผู้ฟัง ไม่ก่อให้เกิดความศรัทธาจากผู้ฟังแต่ประการใด
วิธีการขึ้นต้นที่สัมฤทธิ์ผล
วิธีการขึ้นต้นต่อไปนี้เป็นวิธีการที่สัมฤทธิ์ผล สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ฟังได้ในทันที ผู้พูดอาจเลือกวิธีหนึ่งในการขึ้นต้นตามความเหมาะสม
1. พาดหัวข่าว
การพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ ฯลฯ ด้วยประโยค หรือ ถ้อยคำที่น่าสนใจ
ติดตาม ผู้อ่านจะมีความรู้สึก และอยากอ่านข่าวรายละเอียดนั้นทันที การพูดก็เช่นกัน การประยุกต์วิธีการพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์มาใช้ ย่อมทำให้ผู้ฟังอยากฟังต่อว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร เช่น
“เศรษฐกิจเมืองไทยทรุด ชาวบ้านอดอยากกันทุกหัวระแหง”
“ลูกทรพี ฆ่าแม่ ไม่ยอมให้เงินซื้อผงขาว”
“มีชัยเป็นเหตุ เป็ดตายทั้งเล้า”
2. กล่าวคำถาม
การตั้งคำถามในการเริ่มต้นการพูดจะดึงความสนใจจากผู้ฟังได้ ผู้ฟังอาจนึกตอบคำถามไป
ด้วยในใจ เช่น
“ท่านทราบไหมว่าถ้าเรายิ้มให้โลกแล้ว โลกจะยิ้มให้เรา”
“ท่านเชื่อหรือไม่ว่าผีมีจริง”
การตั้งคำถามนั้นพึงคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
- ต้องเป็นคำถามเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องที่จะพูด
- ตั้งคำถามที่ผู้ฟังมีโอกาสตอบหรือคิดตามไปด้วย
- ไม่ควรเป็นคำถามซ้อนคำถามหรือมีคำถามมากเกินไป
เมื่อตั้งคำถามผู้ฟังแล้ว ผู้พูดควรใช้คำเฉลยของคำถาม นำเข้าสู่เนื้อเรื่องที่จะพูดต่อไป
3. ทำให้เกิดความสงสัย
วิธีการทำให้เกิดความสงสัยนี้ต่างจากวิธีการตอบคำถาม เพราะการขึ้นต้นแบบนี้ไม่เป็น
คำถาม เช่น
“ปรากฏการณ์ประหลาดที่ไม่เคยพบมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทยได้อุบัติขึ้นแล้ว”
“ถ้าเปรียบเทียบเป็นคนก็อายุปาเข้าไปตั้ง 50 แล้ว แต่ยังไม่มีอวัยวะครบ 32 สักที”
เป็นการจุดประกายความอยากรู้อยากทราบของผู้ฟังให้ติดตามต่อไป การใช้วิธีนี้ควรเป็นเรื่องที่น่าสงสัยจริงๆ อย่างสมเหตุสมผล
4. ใช้วาทะหรือบทกวี
การขึ้นต้นแบบนี้ค่อนข้างจะง่ายและสะดวก ผู้พูดสามารถสรรหาวาทะคำคม บทกวี ฯลฯ
ที่เหมาะสมมาใช้ได้โดยให้เหมาะสมกับเรื่อง เช่น
“เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก”
“ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา”
การอ้างบทกวีควรเป็นของบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น สุนทรภู่ รัชกาลที่ 6 ศรีปราชญ์ หลวงวิจิตรวาทการ ฯลฯ วาทะหรือบทกวีที่นำมาขึ้นต้นถูกต้อง อย่ากล่าวอ้างให้ผิดเพี้ยนไปจากของเดิม และไม่ควรใช้บทกวีมากมายหลายบทในตอนเริ่มต้น เพราะจะทำให้เสียเวลาไปโดยไม่เหมาะสม
5. ทำให้มีความสนุกสนาน
การขึ้นต้นโดยทำให้ผู้ฟังมีอารมณ์ขันสนุกสนานได้ ย่อมสร้างความสนใจให้ผู้ฟัง ได้
อย่างมาก แต่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากและเสี่ยงพอสมควร ผู้พูดต้องใช้ศิลปะในการสร้างอารมณ์ขัน ประกอบด้วยจึงจะได้ผล เช่น
“ผู้ชายที่ซวยที่สุดในโลกคือ ผู้ชายที่มีเมียจู้จี้จุกจิกขี้บ่นตลอดวัน และผู้ชายที่ซวยที่สุดคนนั้น ก็คือ สามีของดิฉันเองแหละค่ะ”
“พูดดีเป็นศรีแก่ปาก พูดมากปากจะมีสี”
เนื้อเรื่อง
เมื่อเริ่มต้นเรื่องได้ดีสร้างความสนใจให้กับผู้ฟังแล้ว การดำเนินเรื่องต้องให้มีความผสมกลมกลืนกับคำขึ้นต้น บางคนเริ่มต้นดีแต่พอถึงเนื้อเรื่อง กลับล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า ทั้งนี้ เพราะขาดวิธีการในการดำเนินเรื่องนั่นเอง การดำเนินเรื่องที่ถูกต้อง คือ
1. ดำเนินเรื่องไปตามลำดับ
ไม่วกไปวนมาจนทำให้ผู้ฟังสับสน การดำเนินเรื่องที่เป็นไปตามลำดับ ควรเริ่มจากจุดแรก
ไปสู่จุดสุดท้ายทีละขั้นตอน ผู้ฟังจะสามารถติดตามเรื่องไปได้ตลอด หรือการพูดอาจเริ่มจากเหตุไปสู่ผล หรือเริ่มจากผลนำกลับมาสู่เหตุ แล้วแต่ความเหมาะสม
2. จับอยู่ในประเด็น
เนื้อเรื่องที่พูดต้องอ้างอยู่ในประเด็นของเรื่อง หรือขอบเขตของเรื่องที่กำหนดไว้เสมอ การ
ดำเนินเรื่องออกนอกเขตไปพาดพิงถึงประเด็นอื่นๆ ทำให้เสียเวลาอย่างมาก และผู้ฟังเกิดความสับสนว่า ผู้พูดกำลังพูดเรื่องอะไรกันแน่ การพูดให้อยู่ในประเด็นนี้ควรมีหัวข้อการพูดคร่าวๆ อยู่ในใจ และอธิบายหรือขยายความตามหัวข้อ จะช่วยยึดให้การพูดอยู่ในขอบเขตหรือประเด็นได้มากขึ้น
3. เน้นจุดมุ่งหมาย
เนื้อเรื่องที่ดีต้องมีจุดมุ่งหมายของเนื้อเรื่องที่แน่นอน มีความสอดคล้องกันโดยตลอด ไม่
ขัดแย้งกันเองในจุดมุ่งหมาย การตอกย้ำจุดมุ่งหมายย่อมทำให้เกิดความชัดเจนของเรื่องมากขึ้น คำพูดแบบเลื่อนลอยไม่มีจุดหมายย่อมมีผลกระทบ ทำให้ผู้ฟังไม่เข้าใจไปด้วยหรือถ้าเข้าใจก็อาจเข้าใจผิดพลาดไปจากความประสงค์ของผู้พูด
4. ใช้ตัวอย่างประกอบตามเรื่องราว
บางครั้งผู้ฟังฟังแล้วอาจไม่เข้าใจ ถ้ามีการยกตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวนั้นๆ มา
ประกอบจะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจได้มากและง่ายขึ้น การมีตัวอย่างประกอบจึงช่วยให้เนื้อเรื่องมีน้ำหนัก น่าเชื่อ และเห็นภาพพจน์ การสรรหาตัวอย่างควรหาตัวอย่างง่ายๆ ใกล้ตัวผู้ฟัง ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ อุทาหรณ์ หรือเรื่องราวที่เล่าต่อๆ กันมา
5. เร่งเร้าความสนใจ
การเร่งเร้าความสนใจของผู้ฟังนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญ ต้องอาศัยศิลปะการพูด การวิเคราะห์
ผู้ฟังเข้ามาประกอบด้วย ถ้อยคำที่น่าสนใจ คำคม การเรียบเรียงดี เป็นปัจจัยในการเพิ่มความสนใจของผู้ฟังให้เพิ่มเป็นลำดับ การสอดแทรกอารมณ์ขันในระหว่างการพูดอย่างเหมาะสม จะช่วยสร้างความสนใจได้ดีเช่นกัน
สรุปจบ
เมื่อขึ้นต้นดี ดำเนินเรื่องได้อย่างกลมกลืน การสรุปจบก็ต้องสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังเป็นการปิดท้าย ผู้พูดบางคนล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการสรุป เหมือนคำกล่าวที่ว่า “ม้าตีนต้น” คือดีหรือเก่งเฉพาะในตอนเริ่มเท่านั้น แต่ตอนท้ายกลับได้ไม่ดีคล้าย “ตกม้าตายตอนจบ” ผู้พูดต้องนึกไว้เสมอว่า ผู้ฟังจะประทับใจให้คะแนนผู้พูดมากหรือน้อยอยู่ที่ตอนสรุปจบด้วย
การสรุปจบที่ล้มเหลว
การสรุปจบด้วยถ้อยคำหรือประโยคต่อไปนี้มักได้ยินบ่อยๆ เป็นการจบที่ไม่มีคุณค่า และไม่สร้างความประทับใจในการปิดท้ายแต่ประการใด
1. “ขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้”
“ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้”
2. “มีเท่านี้แหละครับ”
“มีเท่านี้แหละค่ะ”
3. “คงจะได้รับประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย”
4. จบด้วยการขอโทษ หรือขออภัย เนื่องจากกลัวว่าจะมีความผิดพลาดหรือไม่ถูกต้อง
การสรุปจบที่สัมฤทธิ์ผล
การสรุปจบที่ได้ผล และสร้างความประทับใจนั้นอาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. สรุปความโดยย่อ
จับใจความของเรื่องที่พูดมาทั้งหมด เน้นในตอนสุดท้ายอีกครั้ง เพื่อช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจ
จดจำเรื่องราวย่อๆ อีกครั้งหนึ่ง การสรุปความนั้นต้องใช้ถ้อยคำที่กระชับสละสลวย ไม่เยิ่นเย้อ เพื่อสรุปอย่างสั้นๆ และได้ใจความมากที่สุด
2. ข้อร้องให้กระทำ
เป็นการสรุปจบในรูปแบบการพูด เพื่อเรียกร้อง จูงใจให้ผู้ฟังปฏิบัติตามการสรุปจบแบบนี้
ผู้พูดต้องมั่นใจว่าสามารถความรู้สึกคล้อยตามของผู้ฟัง ตามเนื้อเรื่องที่พูดมาแล้วเป็นอย่างดี เช่น พูดถึงเรื่องความทุกข์ยากของทหาร ตำรวจ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ชายแดน ในตอนสรุป ผู้พูดต้องการเรียกร้องให้ผู้ฟังช่วยเหลือทหารตำรวจเหล่านั้น
“ความทุกข์ยากของพวกเขา สามารถบรรเทาได้ด้วยความช่วยเหลือ
ของพวกเราชาวไทย โปรดรวบรวมน้ำใจของท่าน ไม่ว่าจะเป็นเงินทองหรือสิ่งของ
ส่งไปช่วยพวกเขา ผ่านทางมูลนิธิสายใจไทย เสียตั้งแต่วันนี้และเดี๋ยวนี้ ถ้าพวกเรา
ชาวไทยร่วมมือร่วมใจกันอย่างนี้ แม้เพียงคนละบาท ชาติก็อยู่รอด”
การแสดงท่าทีจริงใจและจริงจัง จะช่วยให้การสรุปแบบนี้ประสบความสำเร็จมากขึ้น
3. ฝากนำกลับไปคิด
การจบแบบนี้ผู้ฟังจะมีโอกาสใช้ความคิด และมีความฝังใจในเรื่องที่ได้ฟังเป็นอย่างดี
คำตอบของผู้ผังจะแตกต่างกันบ้าง แต่ควรอยู่ในจุดประสงค์และจุดมุ่งหมายของผู้พูด เช่น พูดถึงคุณประโยชน์ของการประหยัด ในตอนสุดท้ายเป็นการสรุปจบแบบฝากกลับไปคิด
“ท่านลองคิดดูสิว่า ถ้าท่านประหยัดกันตั้งแต่วันนี้เพียงวันละ 10 บาท
กับบั้นปลายชีวิตของท่าน จะมีเงินจากการประหยัดสักเท่าไร”
ผู้พูดต้องระมัดระวังว่า การสรุปจบแบบนี้ ผู้ฟังควรมีโอกาสคิดและหาคำตอบได้ด้วย
4. ใช้ภาษิต วาทะ หรือบทกวี
วิธีการสรุปจบแบบนี้ค่อนข้างจะง่ายและสะดวก ภาษิต วาทะ หรือบทกวีที่นำมาสรุปจบ
นี้ ต้องสัมพันธ์กับเรื่องหรือให้ความหมายสรุปเรื่องที่พูด เช่น พูดถึงการเชิญชวนให้บริจาค อาจจบด้วยบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6
“อันความกรุณาปราณี จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลังมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แผ่นดิน”
พูดถึงโทษและอันตรายของยาเสพติด อาจสรุปจบด้วยคำเตือนใจที่ว่า
“สุรา ยาเสพติด เป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม”
5. เปิดเผยตอนที่สำคัญ
ผู้พูดอาจสร้างความสงสัยให้แก่ผู้ฟัง เพื่อทำให้ผู้ฟังสนใจและติดตามเรื่องมาโดยตลอด
เมื่อถึงตอนสรุปจบต้องเปิดเผยตอนสำคัญที่ซ่อนเร้น และสร้างความสงสัยไว้นั้น เพื่อทำให้เรื่องจบสมบูรณ์ จังหวะการเปิดเผยต้องเป็นจังหวะที่เหมาะสม เปิดเผยเมื่อผู้ฟังสงสัยและต้องการรู้มากที่สุด จะช่วยเสริมความพึงพอใจให้กับผู้ฟังมากที่สุด
ทั้ง 3 ขั้นตอนไม่ยากเกินความสามารถที่จะทำได้ เพียงให้เวลาบ้างในการเตรียมตัวเท่านั้น รับรองว่าผลลัพธ์ได้คุ้มเกินทุนที่ลงไปแน่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น